(ข่าวที่85/2564)วศ.พัฒนาคุณภาพ Lab ทดสอบคุณภาพน้ำ ยกระดับการตรวจวิเคราะห์หาปริมาณค่าไนโตรเจนในรูปทีเคเอ็น (Total Kjeldahl Nitrogen: TKN)

 

C3 4 C3 1

C3 2 C3 3

         วันที่ 19 เมษายน 2564 กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยกลุ่มทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ กองความสามารถห้องปฏิบัติการและรับรองผลิตภัณฑ์ ได้จัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ (proficiency testing, PT) โดยได้ดำเนินการจัดส่งตัวอย่างน้ำ ให้แก่ห้องปฏิบัติการที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการภายในประเทศ จำนวน 100 ห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ห้องปฏิบัติการดำเนินการทดสอบผลการวัด ในรายการ Total Kjeldahl Nitrogen (TKN) in water และส่งผลกลับมายังกลุ่มทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ภายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 เพื่อประเมินผลทางสถิติเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างห้องปฏิบัติการต่อไป
       น้ำเสีย เป็นน้ำที่มีการปนเปื้อนสารอินทรีย์ หรือ สารอนินทรีย์ที่เกิดจาก อุตสาหกรรม เกตรกรรม และชุมชน ซึ่งอาจเกิดอันตรายหรือปนเปื้อนสารพิษทำให้คุณภาพน้ำเปลี่ยนแปลงไป หรือ น้ำเสียเป็นของเหลวที่ผ่านการใช้แล้วทั้งที่มีกากและไม่มีกาก หรือของเสียที่อยู่ในสภาพเป็นของเหลวรวมทั้งมวลสารที่ปะปนหรือปนเปื้อนในของเหลวนั้น ความสกปรกของน้ำเสียพิจารณาจากทั้งลักษณะทางเคมี ชีวภาพ และลักษณะทางกายภาพ น้ำทิ้ง เป็นน้ำที่ผ่านระบบบำบัดน้ำเสียแล้วจนมีคุณภาพตามมาตรฐานตามคุณภาพน้ำทิ้งที่กำหนดสำหรับการที่จะระบายลงแหล่งรองรับน้ำทิ้งได้ ส่วนระบบบำบัดน้ำเสีย หมายถึงกระบวนการทำหรือการปรับปรุงน้ำเสียให้มีคุณภาพน้ำทิ้ง ปล่อยลงแหล่งรองรับน้ำทิ้ง ท่อระบายน้ำสาธารณะ คู คลอง แม่น้ำ ทะเล และแหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งการจะระบายน้ำเสียลงสู่สิ่งแวดล้อมจะต้องมีการตรวจสอบคุณภาพของน้ำไม่ให้มีการปนเปื้อนเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด การวิเคราะห์ค่าไนโตรเจนในรูปทีเคเอ็น (Total Kjeldahl Nitrogen: TKN) ถือเป็นส่วนที่มีความสำคัญควบคู่ไปกับการติดตามดูแลประสิทธิภาพของระบบบำบัดน้ำเสีย จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคนิควิธีทดสอบค่าไนโตรเจนในรูปทีเคเอ็น (Total Kjeldahl Nitrogen: TKN) หมายถึง ปริมาณไนโตรเจนทั้งหมด ทั้งแอมโมเนียไนโตรเจน และอินทรีย์สารไนโตรเจน ตรวจวิเคราะห์โดยวิธี Kjeldalh and Titration สารอินทรีย์ไนโตรเจนจะถูกย่อยสลายเปลี่ยนไปเป็นแอมโมเนีย โดยการออกซิไดส์ของกรดกำมะถัน ทำให้ไนโตรเจนหลุดออกมาในรูปแอมโมเนีย แล้วนำไปกลั่นเพื่อเก็บแอมโมเนียในกรดบอริก จากนั้นจึงนำกรดบอริกไปหาปริมาณแอมโมเนียโดยวิธีการไตเตรตด้วยสารละลายกรดแก่มาตรฐาน ทำให้ทราบปริมาณ TKN ที่มีอยู่ในตัวอย่างน้ำเสีย
        วศ.สนับสนุนผู้ประกอบการที่ทำการทดสอบคุณภาพน้ำ โดยจัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ สาขาสิ่งแวดล้อม รายการ Total Kjeldahl Nitrogen (TKN) in water เพื่อประเมินสมรรถนะและพัฒนาคุณภาพห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพน้ำ เพื่อให้ได้ผลการทดสอบเป็นไปตามมาตรฐานสากล ถือเป็นการประกันคุณภาพผลการทดสอบอย่างหนึ่งของห้องปฏิบัติการทดสอบที่ได้รับการรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO/IEC17025 เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในผลการทดสอบว่ามีความแม่นยำถูกต้อง และเป็นที่ยอมรับทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน
       ทั้งนี้การเข้าร่วมกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ เพื่อประเมินความสามารถของห้องปฏิบัติการ และติดตามความต่อเนื่องความสามารถของห้องปฏิบัติการ รวมทั้งระบุปัญหาภายในห้องปฏิบัติการ อันจะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขต่อไป เช่น ปัญหาที่เกิดจากกระบวนการวัดหรือทดสอบ และความสามารถของเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการต่อไป

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ฝ่ายประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2210 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctorD/