วันที่ 19 มกราคม 2565 กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ดร.จิราภรณ์ บุราคร นักวิทยาศาสตร์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ให้การต้อนรับ นายวัลลภ มานะชัญญา อุปนายก สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย พร้อมด้วยคณะกรรมการในการจัดงานประกวด “ข้าวพันธ์ใหม่เพื่อการพาณิชย์ ครั้งที่ 1” เพื่อหาสุดยอดข้าวพันธ์ใหม่ที่โดดเด่นครบทุกด้าน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภทได้แก่ ข้าวหอมไทย ข้าวพื้นนุ่ม และข้าวพื้นแข็ง โดยการเข้าร่วมทดสอบการชิมข้าวพันธ์ใหม่ ณ ห้องปฏิบัติการทดสอบรสชาติอาหารไทย ชั้น 5 อาคารสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ
ดร.จิราภรณ์ฯ กล่าวว่า วศ. มีบริการทดสอบอาหารด้านคุณภาพ ความปลอดภัยและรสชาติอาหาร โดยมีห้องปฏิบัติการด้านอาหารทางเคมี จุลชีววิทยา ชีวเคมี กายภาพ ประสาทสัมผัส และการแปรรูปอาหาร เพิ่มขีดความสามารถด้านการทดสอบทางประสาทสัมผัส และมีบุคลากรที่ชำนาญงานและเครื่องมือทดสอบโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร โดยการควบคุมคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่ง วศ. มีผลงานวิจัยและการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการ และให้คำปรึกษาแนะนำทางวิชาการ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และเสริมสร้างความเข้มแข็งธุรกิจอาหารของประเทศต่อไป
ทั้งนี้ วศ. โดยกลุ่มคุณภาพทางประสาทสัมผัสในอาหาร กองผลิตภัณฑ์อาหารและวัสดุสัมผัสอาหาร มีห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพอาหารทางประสาทสัมผัส และบุคลากรที่ผ่านการอบรมตามมาตรฐาน เพื่อถ่ายความรู้และทักษะการทดสอบทางประสาทสัมผัสและการปฏิบัติ ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-201-7000 หรือ www.dss.go.th และFacebook :DSSTHAISCIENCE ในวันและเวลาราชการ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ข่าว/ภาพ : พิพัฒน์ ดียอดยิ่ง
กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctorD