เมื่อวันที่ 5-8 พฤศจิกายน 2567 กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำโดย ดร.เอกรัฐ มีชูวาศ ผู้อำนวยการศูนย์ห้องปฏิบัติการอ้างอิงทางฟิสิกส์ พร้อมทีมนักวิจัยจากกลุ่มวิเคราะห์โครงสร้างและพื้นผิว ได้แก่ นางสาวอุษณีย์ พันธุลาภ ดร.สุรีรัตน์ ยอดเถื่อน และ นางสาวณัฐวัลคุ์ แสวงบุญ ได้เข้าร่วมงานประชุมวิชาการนานาชาติ “International Conference on Smart Materials and Nanotechnology (SMARTMAT@2024)” ณ โรงแรมเชียงใหม่ แกรนด์วิว โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดเชียงใหม่
การประชุมครั้งนี้จัดโดยสมาคมเซรามิกอเมริกันประเทศไทย สมาคมแร่หายาก และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกเข้าร่วมกว่า 836 คน ซึ่งประกอบด้วยนักวิจัย บุคลากรภาครัฐและเอกชน อาจารย์ นักเรียนและนักศึกษา วัตถุประสงค์หลักของการเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ของกรมวิทย์ฯ บริการ คือ การสร้างเครือข่ายทางวิชาการที่เข้มแข็งและแลกเปลี่ยนประสบการณ์งานวิจัยทางด้านวัสดุศาสตร์ของนักวิจัยทั่วโลก พร้อมทั้งเผยแพร่องค์ความรู้จากผลงานวิจัยของนักวิจัยไปสู่สาธารณชน ทั้งนี้ กรมวิทย์ฯ บริการ ได้นำเสนอผลงานวิจัยทั้งแบบปากเปล่าและแบบโปสเตอร์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมใหม่ ๆ สู่เวทีสากล โดยมีการผลงานแบบปากเปล่า จำนวน 1 เรื่อง ได้แก่ Lead-free transparent shielding materials from upcycled pharmaceutical glass containers ซึ่งเป็นการนำเสนอแนวทางการพัฒนาวัสดุกำบังรังสีจากภาชนะแก้วบรรจุภัณฑ์ยาใช้แล้ว เพื่อลดปริมาณขยะ ตอบสนองนโยบายด้านความยั่งยืน และเป็นการนำวัสดุรีไซเคิลมาพัฒนาเป็นวัสดุที่ตอบโจทย์งานเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ส่วนการนำเสนอผลงานแบบโปสเตอร์ มีจำนวน 3 เรื่อง คือ 1) Comparative study of calcium precursors on physicochemical properties and In vitro HAC formation of sol-gel derived mesoporous bioactive glass nanoparticles for bone tissue engineering 2) Investigating borosilicate glass with tungsten oxide addition for nuclear medicine applications: from structure o shielding และ 3) Improving the mechanical performance of 45S5 3D scaffolds through the particles of barium titanate piezoelectric ceramic incorporation
สำหรับงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ SMARTMAT@2024 เป็นงานประชุมวิชาการนานาชาติทางด้านวัสดุศาสตร์มีหัวข้อการนำเสนอที่ครอบคลุมหลากหลายด้านครอบคลุมทุกด้าน เช่น เทคโนโลยีเซรามิกและแก้ว วัสดุนาโนชีวภาพและอุปกรณ์ทางการแพทย์ พอลิเมอร์และวัสดุยั่งยืน รวมถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในวัสดุศาสตร์และพลังงาน โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจ ประกอบด้วย 1. Nanomaterials, Catalysts, Surface Science and Thin Film Technology, 2. Ceramics and Glass Technology, 3. Polymers, Bioplastics, Rubber, Colloids and Emulsions, 4. Nano-biomaterials, Nanomedicine and Tissue Engineering, and Medical Devices, 5. Metal, Alloy, Materials Processing and Corrosion, 6. Advanced Composites and Construction Materials, 7. Computational Materials Science and Condense Matter, Modeling and Simulations, Data-driven Material Modeling, Artificial Intelligence, 8. Advanced Materials Characterization with Synchrotron Radiation and State-of-the-art Instrumentation, 9. Energy Harvesting and Energy Storage Materials and Technology และ 10. Nanoengineering, Environmental and Green Materials for Sustainability ตัวอย่างงานวิจัยที่น่าสนใจในการประชุมครั้งนี้ คือ เรื่อง “Quantum Technology: A New Frontier in Agriculture” นำเสนอโดย รศ.ดร. ชัชวาล วงศ์ชูสุข จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่าด้วยการใช้เทคโนโลยีควอนตัมในภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเกษตรแบบแม่นยำและการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และ “The gamma ray and thermal neutron shielding properties of gallium borate added barium oxide glass using Monte Carlo simulations and experimental methods” นำเสนอโดย นายศุภกิตติ์ ยลพันธ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม งานวิจัยนี้ศึกษาสมบัติการป้องกันรังสีแกมมาของแก้วแกลเลียมบอเรตที่เติมแบเรียมออกไซด์ (BaO) ในปริมาณ 5 - 25 mol% โดยใช้การจำลองแบบมอนติคาร์โล ผลการทดลองชี้ให้เห็นว่า แก้วแกลเลียมบอเรตที่เติมแบเรียมออกไซด์เป็นวัสดุที่มีศักยภาพสูงสำหรับการป้องกันรังสี
นอกจากนี้ กรมวิทย์ฯ บริการ ได้ให้คำปรึกษาด้านเทคนิคขั้นสูงในการวิเคราะห์องค์ประกอบธาตุของกระจกโบราณ โดยเฉพาะการประยุกต์เทคโนโลยีการตรวจวัดที่ทันสมัยแก่คณะนักวิจัยจากภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย รศ.ดร. กมลพรรณ เพ็งพัด และคณะ การสนับสนุนนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ทีมวิจัยสามารถทำความเข้าใจองค์ประกอบและคุณสมบัติทางวิทยาศาสตร์ของกระจกโบราณได้อย่างลึกซึ้ง การวิเคราะห์ดังกล่าวมีเป้าหมายสำคัญในการอนุรักษ์และฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมไทยให้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โดยอาศัยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการจัดการและดูแลมรดกเหล่านี้อย่างยั่งยืน การสนับสนุนจากกรมวิทย์ฯ บริการยังช่วยยกระดับมาตรฐานการวิจัยด้านโบราณคดีวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยให้เทียบเท่าระดับสากล
ในเวลาเดียวกัน กรมวิทย์ฯ บริการ ยังได้ถ่ายทอดข้อมูลและแนวทางใหม่ ๆ ที่ได้รับจากการประชุมของคณะกรรมการด้านเทคนิค (Technical Committee) ของสมาคมนานาชาติด้านแก้ว (ICG) สู่เครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยและผู้ที่เกี่ยวข้องหรือสนใจผ่านการประชุมวิชาการ SMARTMAT@2024 การดำเนินงานนี้มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญและเครือข่ายทางวิชาการด้านวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยีจากประเทศไทยกับเครือข่ายในระดับสากล อันเป็นการยกระดับความสามารถของบุคลากรในประเทศ ด้านการวิเคราะห์ ทดสอบ และวิจัยวัสดุ และเตรียมผลักดันให้ไทยเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญในระดับสากลผ่านการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการด้านเทคนิคของ ICG กิจกรรมดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการช่วยให้ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนทางเทคนิคและความรู้ที่ทันสมัย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนการยกระดับขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการในประเทศเทียบเท่ามาตรฐานระดับโลก
การเข้าร่วมประชุม SMARTMAT@2024 ครั้งนี้ สะท้อนถึงบทบาทของกรมวิทย์ฯ บริการในการสนับสนุนการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านวัสดุศาสตร์ที่ทันสมัย โดยสอดคล้องกับนโยบายของนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ที่มุ่งส่งเสริมการวิจัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ งานประชุมนี้ยังเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับนักวิจัยทั่วโลก ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพในการพัฒนาวัสดุและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ทั้งในด้านการแพทย์และอุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อคุณภาพชีวิตประชาชนและการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor