ข่าวประชาสัมพันธ์

(ข่าวที่186/2566) วศ.อว. จัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพน้ำรายการวัดค่า Biochemical Oxygen Demand (BOD5) in water

F107 4 F107 3

F107 2 F107 1

 

            วันที่ 26 มิถุนายน 2566 กองบริหารจัดการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ จัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ (proficiency testing, PT) โดยดำเนินการจัดส่งตัวอย่างน้ำให้แก่ห้องปฏิบัติการที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 228 ห้องปฏิบัติการ ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการภายในประเทศ 227 หน่วยงาน และต่างประเทศ 1 หน่วยงาน เพื่อให้ห้องปฏิบัติการดำเนินการทดสอบผลการวัดรายการ Biochemical Oxygen Demand (BOD5) in water และส่งผลกลับมายังกลุ่มทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ภายในวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 เพื่อประเมินผลทางสถิติเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างห้องปฏิบัติการต่อไป
             น้ำเสียประเภทที่มีสารอินทรีย์ จะพิจารณาจากค่า BOD5 (Biochemical Oxygen Demand) ซึ่งค่า BOD5หมายถึง ค่าวัดความเน่าเสียจากน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคที่ถูกทิ้งลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ใช้บอกความสกปรกของน้ำเสียจากบ้านเรือนหรือโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ค่า BOD5 จะแสดงให้เห็นถึงปริมาณออกซิเจนที่แบคทีเรียต้องการใช้ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ กล่าวคือ ถ้าน้ำเสียมีค่า BOD5 ต่ำ เมื่อถูกทิ้งลงในแหล่งน้ำจะไม่ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำดังกล่าว เนื่องจากแบคทีเรียต้องการออกซิเจนในการย่อยสลายน้อย แต่ถ้าน้ำเสีย มีค่า BOD5 สูง เมื่อถูกทิ้งลงในแหล่งน้ำจะทำให้ปริมาณออกซิเจนในแหล่งน้ำลดลงมากจนทำให้ปลาหรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในแหล่งน้ำนั้นไม่สามารถอยู่ได้ การหาค่า BOD5 ทำได้โดยการหาปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำ หรือค่า DO (Dissolved Oxygen) โดยน้ำที่สะอาดจะมีค่า DO สูง และน้ำเสียจะมีค่า DO ต่ำ การหาค่า BOD5 โดยปกติแล้ว หลักการจะคล้ายกับ COD (Chemical Oxygen Demand) คือ สารอินทรีย์ในน้ำจะถูกออกซิไดส์จนได้คาร์บอนไดออกไซด์กับน้ำ โดยสิ่งที่แตกต่างกันคือ COD ใช้ออกซิไดซิงเอเจนต์ซึ่งเป็นสารเคมี แต่ค่า BOD5 ต้องใช้จุลินทรีย์หรือแบคทีเรียในการย่อยสลาย และค่า COD จะรวมสารอินทรีย์ที่ไม่สามารถย่อยสลายโดยแบคทีเรีย ดังนั้นค่า COD จึงสูงกว่าค่า BOD5 เสมอ
             กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้สนับสนุนผู้ประกอบการที่ทำการทดสอบคุณภาพน้ำ โดยจัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ สาขาสิ่งแวดล้อม รายการ Biochemical Oxygen Demand (BOD5) in water เพื่อประเมินสมรรถนะและพัฒนาคุณภาพห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพน้ำ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ประโยชน์ของการเข้าร่วมกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ เป็นการประเมินความสามารถของห้องปฏิบัติการ และติดตามความต่อเนื่องของความสามารถของห้องปฏิบัติการ รวมทั้งระบุปัญหาภายในห้องปฏิบัติการ อันจะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขต่อไป เช่น ปัญหาที่เกิดจากกระบวนการวัดหรือทดสอบ และความสามารถของเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นการประกันคุณภาพผลการทดสอบอย่างหนึ่งของห้องปฏิบัติการทดสอบที่ได้รับการรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในผลการทดสอบว่ามีความแม่นยำถูกต้อง และเป็นที่ยอมรับทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ทั้งในและต่างประเทศ

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

(ข่าวที่185/2566) วศ.อว. ดำเนินการรับรองความสามารถบุคลากรฯ ยกระดับมาตรฐานอาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

F106 3 F106 2

F106 1 F106 4

 

            เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) โดยกองพัฒนาศักยภาพนักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการ (พศ.) เป็นหน่วยรับรองบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17024 เปิดให้การรับรองตั้งแต่ พ.ศ. 2558 ในสาขา “การควบคุมและจัดการสารเคมีในห้องปฏิบัติการ” ได้ดำเนินการรับรองความสามารถบุคลากรโดยการจัดสอบข้อเขียน ณ อาคารสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานอาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีผู้ขอรับการรับรอง จำนวน 43 คน ซึ่งประโยชน์ของการได้รับการรับรองความสามารถบุคลากรเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและสร้างโอกาสให้กับบุคลากรที่ได้รับการรับรอง รวมทั้งยังสร้างความมั่นใจให้แก่ ผู้ว่าจ้าง ผู้รับบริการ และผู้ที่เกี่ยวข้องว่าผู้ที่ได้รับการรับรองมีความสามารถในด้าน การควบคุมและจัดการสารเคมีในห้องปฏิบัติการ ซึ่งผู้ที่ได้รับการรับรองจะได้รับบัตรประจำตัวรับรองความสามารถจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ และสามารถนำไปแสดงถึงการการรับรองความสามารถบุคลากรภายใต้หลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนดไว้ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์บริการได้รับการรับรองระบบงานตามาตรฐาน ISO/IEC 17024 ในสาขา “การควบคุมและจัดการสารเคมีในห้องปฏิบัติการ”

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

 

(ข่าวที่184/2566) วศ.อว. ร่วมงาน SME Day 2023 “รวมพลังโต” จับมือ 46 พันธมิตรบูรณาการส่งเสริม SME ของไทย

F105 2 F105 4

F105 1 F105 3

 

               วันที่ 27 มิถุนายน 2566 กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.จริยาวดี ศิริจันทรา ผู้อำนวยการกองพัฒนาธุรกิจวิทยาศาสตร์บริการ พร้อมคณะนักวิจัย เข้าร่วมพิธีประกาศเจตนารมณ์เพื่อบูรณาการการส่งเสริม SME ในการพัฒนาข้อมูลข่าวสารผ่านเว็บไซต์ SME ONE จัดโดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยได้รับเกียรติจากนายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นประธานกล่าวเปิดงานพร้อมด้วย 46 พันธมิตรเข้าร่วมงาน ณ อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก

               ภายในงานดังกล่าว ดร.จริยาวดี ศิริจันทรา ผู้แทน วศ.อว. ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในเวทีเสวนาพร้อมกับ 46 พันธมิตร ทั้งนี้ วศ.อว.ได้ร่วมมือกับ สสว. ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ผ่านช่องทาง BDS ภายใต้โครงการ “SME ปัง!! ตังได้คืน” เป็นการอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนา SME แบบร่วมจ่าย (Co Payment) ในสัดส่วนร้อยละ 50-80 วงเงินสูงสุด 200,000 บาท สำหรับบริการของ วศ.บนช่องทาง BDS ประกอบด้วย การทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ การรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการ และการสอบเทียบเครื่องมือ โดยมีขั้นตอนการรับสิทธิ์ “SME ปัง!! ตังได้คืน” 5 ขั้นตอน ได้แก่ (1) ลงทะเบียนกับ สสว. (2) เข้าไปที่ MSTQ One Stop Service http://onestop.mhesi.go.th (3) เลือกกดลิ้งค์กรมวิทยาศาสตร์บริการ (4) เลือกบริการ BDS ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ (5) ติดต่อรับบริการตามขั้นตอนของ วศ. และเก็บใบเสร็จค่าบริการไปรับสิทธิ์กับ สสว. ต่อไป ซึ่งจะหมดเขตการรับสิทธิ์ฯ ภายในวันที่ 31 สิงหารม 2566

               ผู้สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์กรมวิทยาศาสตร์บริการ https://www.dss.go.th ดร.จริยาวดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือกับ สสว. ในครั้งนี้มุ่งหวังให้ประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการ SME และเป็นการแสดงพลังให้กับผู้ประกอบการได้เห็นถึงการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษาเพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนพี่น้อง SME ของประเทศไทยต่อไป

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

(ข่าวที่183/2566) วศ.อว. หารือความร่วมมือทางวิชาการ และเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อม อาหาร วัสดุสัมผัสอาหาร และเทคโนโลยีวัสดุ ณ The Bundesanstalt für Materialforschung und -prüfung (BAM) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

F104 2 F104 1

F104 3 F104 4

 

             เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566 กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ดร.พจมาน ท่าจีน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ พร้อมด้วย นางวรรณี อู่ไพบูรณ์ ผู้อำนวยการกองผลิตภัณฑ์อาหารและวัสดุสัมผัสอาหาร ดร.อรสา อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการกองเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์อุปโภค ดร.กนิษฐ์ ตะปะสา ผู้อำนวยการกองวัสดุวิศวกรรม และนักวิทยาศาสตร์ของ วศ. ดร. อมรพล ช่างสุพรรณ ดร.เอกรัฐ มีชูวาศ และ ดร.อัจฉราวรรณ วัฒนหัตถกรรม เข้าร่วมการหารือความร่วมมือทางวิชาการและเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการด้านการทดสอบทางสิ่งแวดล้อม อาหาร วัสดุสัมผัสอาหาร และเทคโนโลยีวัสดุกับ The Bundesanstalt für Materialforschung und -prüfung (BAM) หรือ The Federal Institute for Materials Research and Testing) ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนี ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับสากลที่มีพันธกิจใกล้เคียงกับ วศ. และมีความโดดเด่นด้านการพัฒนาวิธีทดสอบใหม่ และการวิจัยที่ตอบโจทย์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals; SDG) โดยมี Mr. Jens Koch, Dr.rer.nat Bjฺorn Meermann, Dr.rer.nat.habil Rudolf Schneider, Dr.Christian Piechotta, Dr.rer.nat Matthias and Prof.Dr.rer.nat Jens Gunster ร่วมหารือ พาเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ

             โดยภาคเช้าทาง BAM ได้นำทีมคณะจาก วศ. เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการทดสอบสารอนินทรีย์ปริมาณน้อย ห้องปฏิบัติการทดสอบด้านสิ่งแวดล้อม ห้องปฏิบัติการทดสอบสารอินทรีย์ปริมาณน้อย และอาหาร หลังจากการเยี่ยมชมมีการหารือความร่วมมือกันทั้ง 2 หน่วยงาน ทั้งนี้ในปี 2566-2569 วศ. จะส่งนักวิทยาศาสตร์ ไปฝึกงานที่ BAM สำหรับการทดสอบของสารมลพิษที่มีความเป็นพิษสูง และสารมลพิษอุบัติใหม่ นอกจากนี้มียังมีการหารืองานวิจัยร่วมด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับสารมลพิษที่มีความเป็นพิษสูง และสารมลพิษอุบัติใหม่ ที่จะบูรณาการร่วมกันของทั้ง 2 สถาบัน ในปี 2566 เป็นต้นไป สำหรับช่วงบ่ายเป็นการหารือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านเทคโนโลยีวัสดุ ทั้งนี้ประเด็นที่ได้จากการหารือความร่วมมือทางวิชาการและเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ BAM จะนำไปสู่การยกระดับห้องปฏิบัติการของ วศ. ให้เป็นห้องปฏิบัติการทดสอบชั้นสูงของประเทศสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

(ข่าวที่182/2566) วศ.อว. Open House เยี่ยมชมภารกิจ “กองหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”

F103 4 F103 2

F103 3 F103 1

 

              วันที่ 26 มิถุนายน 2566 กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) โดย ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นประธานและเยี่ยมชมภารกิจของกองหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สท.) พร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากส่วนงานต่างๆ ของ วศ. ณ อาคาร หอสมุด ดร. ตั้ว ลพานุกรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ กิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับภารกิจสำคัญในแต่ละด้านของ วศ. ในการให้บริการภาคประชาชน ผู้ประกอบการ รวมถึงบทบาทการวิจัยพัฒนา
              กองหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สท.) มีหน้าที่ เป็นหอสมุดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดทำและพัฒนาฐานข้อมูลเฉพาะทาง เพื่อการศึกษา วิจัยและพัฒนา และอุตสาหกรรมของประเทศ รวมทั้งเป็นศูนย์ประสานงานสารนิเทศสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระบบสารนิเทศทางวิชาการแห่งชาติ จัดทำและพัฒนาระบบสารสนเทศและเครือข่าย เพื่อการร่วมใช้ทรัพยากรสารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
             ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจรับบริการจัดหาเอกสารฉบับเต็มหรือสารนิเทศสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ กองหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทรศัพท์ 02-201-7251, 02-201-7259-61 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. หรือ Facebook : Science Library - Department of Science Service ในวันและเวลาราชการ

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

  1. (ข่าวที่181/2566) วศ.อว. ร่วมสัมมนา Food Contact Materials and Safety Requirements applicable to Recycled Plastic
  2. (ข่าวที่180/2566) วศ.อว. ร่วมประชุมความร่วมมือทางวิชาการด้านเทคโนโลยีวัสดุ กับ สถาบันวัสดุชีวภาพ FAU สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
  3. (ข่าวที่179/2566) วศ.อว. หารือ JRC-Geel ราชอาณาจักรเบลเยียม สร้างความร่วมมือทางวิชาการด้านเทคโนโลยีวัสดุ
  4. (ข่าวที่178/2566) วศ.อว.ต้อนรับผู้ว่าการ กฟผ. และผู้บริหารสูงสุด ปตท.พร้อม โชว์ศักยภาพยานยนต์ไร้คนขับและสนามทดสอบ CAV Proving ground ณ วังจันทร์วัลเลย์
  5. (ข่าวที่177/2566) วศ.อว. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การใช้งานระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์” หนุนการลดใช้กระดาษอย่างเต็มรูปแบบ
  6. (ข่าวที่176/2566) วศ.อว. ลงพื้นที่ให้คำปรึกษาเชิงลึกให้กับผู้ประกอบการ OTOP ด้านอาหาร ณ จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดหนองบัวลำภู
  7. (ข่าวที่175/2566) วศ.อว. จัดสัมมนาฯ การทำแผนที่นำทางการพัฒนาเทคโนโลยีอาหารและวัสดุสัมผัสอาหาร ต่อเนื่อง พร้อมเชิญวิทยากรจาก บพท. ร่วมเป็นวิทยากรกระบวนการ
  8. (ข่าวที่174/2566) วศ.อว.เข้าร่วมงานสตาร์ทอัพและอินโนเวชั่น ไทยแลนด์ เอ็กซ์โป 2023 ยกระดับขีดความสามารถทางนวัตกรรม ขับเคลื่อนไทยสู่ชาตินวัตกรรม
  9. (ข่าวที่173/2566) วศ. เตรียมพร้อมขับเคลื่อนการปฏิบัติงานสู่การเป็นระบบราชการ 4.0
  10. (ข่าวที่172/2566) วศ.อว. มุ่งมั่นพัฒนาองค์กรสู่การเป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการโดดเด่น