ข่าวประชาสัมพันธ์

(ข่าวที่ 174/2567) เอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ ชื่นชมผลงานของคณะนักประดิษฐ์ไทยที่นำเสนอในงาน “WorldInvent Singapore 2024” พร้อมสนับสนุนในการสร้างโอกาสการพัฒนาด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ในสิงคโปร์

79629994

796299932679

 

              วันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ท่านอุรีรัชต์ เจริญโต เอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ พร้อมด้วยนางสาวพนาลี ชูศรี ที่ปรึกษา ได้เดินทางมาให้เยี่ยมชมและให้กำลังใจนวัตกรรมจากกรมวิทยาศาสตร์บริการในงาน “WorldInvent Singapore 2024” (WoSG) โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ให้การต้อนรับ พร้อมนี้ท่านเอกอัครราชทูตได้ให้ความสนใจซักถามและให้ข้อแนะนำในการสร้างโอกาสเพื่อพัฒนามาตรฐานสิ่งประดิษฐ์ในอนาคต รวมถึง การสนับสนุนการเชื่อมโยงโอกาสกับหน่วยงานในสิงคโปร์ให้กับนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ต้องการต่อยอด รวมทั้ง การทำวิจัยและพัฒนาเพื่อการขยายผลเชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์อีกด้วย

             ในปีนี้ผลงานของประเทศไทย ที่เข้าร่วมนำเสนอในงาน “WorldInvent Singapore 2024” (WoSG) จำนวน 33 ผลงาน มาจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน พร้อมด้วยสถาบันการศึกษา รวม 19 หน่วยงาน

             WorldInvent Singapore 2024 (WoSG) เป็นงานประกวดและนำเสนอผลงานของนักประดิษฐ์นานาชาติซึ่งจัดขึ้นโดย Innovation Design & Entrepreneurship Association (IDEA) หน่วยงานนานาชาติด้านการส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม เป็นเวทีที่ได้รับการตอบรับจากนักประดิษฐ์ นักวิจัย นักลงทุนจากนานาประเทศ โดยการจัดงานในปีนี้มีการจัดแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมกว่า 300 ผลงาน ทั้งในรูปแบบonsiteและonline จากประเทศต่างๆ อาทิ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ราชอาณาจักรโรมาเนีย สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และประเทศไทย เป็นต้น

            ซึ่งผลงานต่างๆ ที่เข้าร่วมนำเสนอในเวทีระดับนานาชาติที่ WoSG ได้ผ่านกระบวนการพิจารณาคัดกรองจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการแข่งขันในระดับนานาชาติ ซึ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของไทย สามารถนำไปพัฒนาให้เกิดการสร้างมูลค่าและคุณค่า จากทรัพย์สินทางปัญญาอันเป็นประโยชน์กับประเทศไทย รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับนานาชาติด้านการวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม สร้างแรงจูงใจ ความเชื่อมั่นและการยอมรับในผลงานคุณภาพของนักประดิษฐ์และนักวิจัยในมาตรฐานสากล

ดูรูปภาพเพิ่มเติมคลิก>>

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

(ข่าวที่ 173/2567) กรมวิทย์ฯ บริการ เปิดบ้านต้อนรับ คณะผู้บริหาร อาจารย์และบุคลากร ภาควิชาเคมี มทร.ธัญบุรี เข้าศึกษาดูงานและหารือ “การอบรมและยกระดับห้องปฏิบัติการทดสอบ” เพื่อการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและการยกระดับห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ให้ได้มาตรฐานสากล

2

7

 

            วันพุธที่ 10 กรกฎาคม 2567 กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยนายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้มอบหมายให้กองพัฒนาศักยภาพนักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการ (พศ.) นำโดยผู้อำนวยการกองฯ ดร.ภูวดี ตู้จินดา เป็นประธานในการต้อนรับคณะผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากร ภาควิชาเคมี มทร.ธัญบุรี เข้าร่วมศึกษาดูงานและหารือ เรื่อง “การอบรมและยกระดับห้องปฏิบัติการ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและยกระดับคุณภาพห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งการหารือครั้งนี้มุ่งเน้นประเด็นสำคัญ อาทิ แนวทางการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ การพัฒนาหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง ระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการ การจัดการความปลอดภัย และการบริหารจัดการเครื่องมือวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ยังได้หารือถึงโอกาสในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการในอนาคต

            สอดคล้องกับนโยบายของ นายแพทย์รุ่งเรือง อธิบดี วศ. ที่กล่าวว่า "การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการของประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยในระยะยาว" นอกจากนี้ยังสามารถนำไปสู่การพัฒนาบุคลากรและงานวิจัยที่มีคุณภาพในอนาคต การศึกษาดูงานครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและสถาบันการศึกษา ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยต่อไป
             ในระหว่างการศึกษาดูงาน คณะผู้บริหาร คณะอาจารย์และบุคลากร จาก มทร.ธัญบุรี ได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมและด้านน้ำของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 โดยได้รับฟังการบรรยายเกี่ยวกับการจัดการระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 การควบคุมคุณภาพผลการทดสอบ และเทคนิคการวิเคราะห์ที่ทันสมัย ผู้เชี่ยวชาญจากทั้งสองหน่วยงานได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการตรวจวัดสารปนเปื้อนในน้ำดื่มและน้ำเสีย การวิเคราะห์โลหะหนัก นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายเห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ และได้หารือถึงโอกาสในการจัดฝึกอบรมร่วมกันในอนาคต ไม่เพียงแค่เสริมสร้างทักษะและความเชี่ยวชาญให้แก่นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ อันจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ แต่ยังเป็นการวางรากฐานสำหรับความร่วมมือทางวิชาการในระยะยาว พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานสากล เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและขับเคลื่อนประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน

ดูรูปภาพเพิ่มเติมคลิก>>

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

(ข่าวที่ 172/2567) กรมวิทย์ฯ บริการ จับมือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ขานรับนโยบายรัฐมนตรี อว. “ศุภมาส” เดินหน้าพัฒนาห้องปฏิบัติการสู่การเป็นเครือข่ายศูนย์วิทยาศาสตร์บริการร่วม อว. รองรับการให้บริการทดสอบผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานในพื

4503

397654

 

            นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทย์ฯ บริการ กล่าวว่ากรมวิทย์ฯ บริการ ได้รับนโยบายจากรัฐมนตรี อว. ให้ร่วมพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถห้องปฏิบัติการของสถาบันอุดมศึกษาในสังกัด อว. สู่การเป็นเครือข่ายศูนย์วิทยาศาสตร์บริการร่วม อว. เพื่อขยายบริการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้กับภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาชน ภาคสังคม และในระดับชุมชน ด้วยการตรวจสอบคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์สู่มาตรฐานสากล สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์ ตรวจสอบคุณภาพทางสิ่งแวดล้อมเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีและปลอดภัยมากขึ้น ขับเคลื่อนให้ระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศให้มีความเข้มแข็ง และถูกนำไปใช้เพื่อการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ให้กับประเทศต่อไป โดยการรับรองความสามารถของกรมวิทย์ฯ บริการ จะเป็นเครื่องหมายที่การันตีคุณภาพและมาตรฐานการทำงานของห้องปฏิบัติการว่ามีความสามารถทัดเทียมและเทียบเท่าการทำงานของห้องปฏิบัติการกรมวิทย์ฯ บริการ มีผลการทดสอบที่เชื่อถือได้ อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการในการเลือกใช้บริการทดสอบจากห้องปฏิบัติการในพื้นที่ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นี้จะเริ่มดำเนินการในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างก่อนจะขยายไปสู่ทุกภูมิภาคของประเทศ ในปีงบประมาณถัดไป
            นายแพทย์รุ่งเรืองฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิทย์ฯบริการ ได้จัดเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โดย วันที่ 9-10 กรกฎาคม 2567 จัดที่โรงแรมเซ็นทาราริเวอร์ไซด์ จังหวัดเชียงใหม่ และ วันที่ 27-28 มิถุนายน 2567 จัดที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ซึ่งได้รับเกียรติจาก ผู้บริหาร นักวิจัย นักวิชาการและเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการยกระดับขีดความสามารถห้องปฏิบัติการ โดยกรมวิทย์ฯบริการ จะสนับสนุนและส่งเสริมด้านเทคนิคและวิชาการ รวมไปถึงการส่งนักวิทยาศาสตร์ของกรมวิทย์ฯบริการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้กับห้องปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาไปสู่ระบบคุณภาพและมาตรฐาน โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในเดือนกันยายน 2567 นี้ ห้องปฏิบัติการที่มีศักยภาพของทั้งสองมหาวิทยาลัยจะเข้าสู่กระบวนการรับรองคุณภาพและมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์บริการได้สำเร็จ พร้อมให้บริการกับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ได้ต่อไป
             รศ. วินิตา บุณโยดม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยินดีเข้าร่วมเป็นหนึ่งในศูนย์บริการร่วม อว. เพื่อทำหน้าที่ให้บริการทางห้องปฏิบัติการให้กับผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมในภาคเหนือ โดยที่ห้องปฏิบัติการของหน่วยงานในสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีเครื่องมือที่มีความทันสมัยและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ซึ่งการจับมือร่วมกับกรมวิทย์ฯบริการ ในการพัฒนาขีดความสามารถห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทางด้านคุณภาพและมาตรฐาน จะช่วยยกระดับงานบริการทางห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เป็นที่ยอมรับ ได้รับความเชื่อถือกับผู้ประกอบการ และหน่วยงานรับรองผลิตภัณฑ์ และการขยายผลไปสู่ระบบมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025 ในอนาคต
             ด้าน รศ. มาลิณี จุโฑปะมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ กล่าวชื่นชมต่อความมุ่งมั่นของบุคลากรของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ในการพัฒนาและยกระดับความสามารถของห้องปฏิบัติการให้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและพร้อมจะสนับสนุนการพัฒนาและยกระดับความสามารถห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ให้ไปสู่ระดับมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025 โดยคาดหวังว่าห้องปฏิบัติการที่จะเข้าสู่กระบวนการรับรองความสามารถของกรมวิทย์ฯ บริการ จะทำหน้าที่ในการเป็นเครือข่ายศูนย์วิทยาศาสตร์บริการร่วม อว. ที่สำคัญให้กับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (อีสานใต้) ตอบสนองความต้องการด้านการทดสอบผลิตภัณฑ์ของภาคอุตสาหกรรมและชุมชนในพื้นที่ เสริมสร้างศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างยั่งยืน

ดูรูปภาพเพิ่มเติมคลิก>>

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

 

(ข่าวที่ 171/2567) กรมวิทย์ฯ บริการ เข้าร่วมงานแถลงข่าว อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND เดินหน้ายกระดับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ขับเคลื่อนไทยสู่อนาคต

450537424 887192483436406 2017067965253453

450546201 887192170103104 7820088785414961

 

            วันที่ 10 กรกฎาคม 2567 นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เข้าร่วมงานแถลงข่าวการจัดงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ด้วยพลังสหวิทยาการ หรือ “อว.แฟร์” เพื่อยกระดับทักษะองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมแก่ประชาชนไทยให้มีมาตรฐานทัดเทียมนานาชาติ พร้อมแสดงศักยภาพของไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนเป็นเวทีให้ผู้เข้าร่วมงานได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือในด้านต่าง ๆ บนพื้นที่กว่า 23,000 ตารางเมตร กับนิทรรศการ 6 โซนไฮไลต์ โดยมี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงาน ณ ห้องแถลงข่าว โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ
           นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 5 ปีของการก่อตั้งกระทรวง อว. เพื่อให้เป็นกระทรวงแห่งปัญญา โอกาส และอนาคต กระทรวง อว. ได้สร้างผลงานไว้มากมาย ทั้งการพัฒนากำลังคนระดับอุดมศึกษา การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงได้ดำริให้มีการจัดงาน อว.แฟร์ ขึ้น เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศได้รับรู้ถึงผลงานของหน่วยงานในกระทรวง อว. ที่จะรวมพลังในการนำสหวิทยากรเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างโอกาส และสร้างอนาคตใหม่ให้กับประเทศ โดยการจัดงาน อว.แฟร์ กำหนดให้มีการจัดงาน 2 ส่วน คือ ส่วนภูมิภาค และส่วนกลาง โดยการจัดงานในส่วนภูมิภาคได้ดำเนินการจัดกิจกรรมเดินสาย Roadshow แสดงศักยภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนใน 4 ภูมิภาค โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดที่จังหวัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ภาคเหนือ จัดที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ภาคใต้ จัดที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช และภาคกลาง/ภาคตะวันออก จัดที่มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี โดยผลตอบรับของการจัดงาน อว.แฟร์ ระดับภูมิภาค ที่ผ่านมา มีประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมชมงานทั้ง Onsite และ Online ไม่น้อยกว่า 200,000 คน กระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ส่งผลต่อเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคเติบโตขึ้น และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท
            สำหรับงาน “อว.แฟร์ ส่วนกลาง” งานมหกรรมที่รวมสหวิทยาการทั้งด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม การศึกษาที่มีคุณภาพ ด้าน Soft power ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัยมากกว่า 170 หน่วยงาน ครอบคลุมทั่วประเทศผู้เข้าชมงานจะได้พบกับกิจกรรมดี ๆ และสาระความรู้ที่ไม่ควรพลาด อาทิ นิทรรศการ 6 โซน ได้แก่ INSPIRED BY SCIENCE , SCIENCE FOR LIFELONG LEARNING, STARTUP LAUNCHPAD, SCIENCE FOR EXPONENTIAL GROWTH, SCIENCE FOR ALL-WELL BEINGและ SCIENCE FOR FUTURE THAILAND
            ทั้งนี้ ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน ร่วมมาสัมผัสประสบการณ์จริงด้วยตัวคุณเองในงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND งานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ด้วยพลังสหวิทยาการ โดยจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม 2567 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงาน อว.แฟร์ ตั้งแต่เวลา 14.30- 16.00 น. ทั้งนี้ในวันที่ 22 กรกฎาคม จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่เวลา 16.00 – 20.00 น. และในวันที่ 23 – 28 กรกฎาคม 2567 เปิดให้ประชาชนเข้าชมงานตั้งแต่เวลา 09.00 – 20.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ www.mhesifair.com

ดูรูปภาพเพิ่มเติมคลิก>>

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

(ข่าวที่ 170/2567) “หมอรุ่งเรือง”ได้รับมอบปีกกิตติมศักดิ์เฮลิคอปเตอร์การแพทย์ฉุกเฉิน (Executive HEMS Thai Sky Doctor) ในฐานะเป็นแพทย์ผู้อุทิศตนที่เข้าช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งบนเครื่องบินและอุบัติเหตุจราจร

450537841

450541108

 

          วันที่ 9 กรกฎาคม 2567 นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ เรืออากาศเอก นายแพทย์ อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) พร้อมคณะจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินในโอกาสเข้ามอบประกาศนียบัตร และเครื่องหมายปีกกิตติมศักดิ์เฮลิคอปเตอร์การแพทย์ฉุกเฉิน (Executive HEMS Thai Sky Doctor) ซึ่งทาง สพฉ. เห็นว่าเป็นบุคคลซึ่งสร้างคุณประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เช่น ช่วยเหลือผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินทางจราจรทุกครั้งที่ประสบเหตุ ผู้บาดเจ็บทางท้องถนน ช่วยผู้ป่วยอาการหนักบนเครื่องบิน ริเริ่มโครงการคนไทย CPR 10 ล้านคน การลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินทางเฮลิคอปเตอร์ ฯลฯ ณ ห้องประชุมอัครเมธี ชั้น 6 อาคารตั้วฯ กรมวิทยาศาสตร์บริการ
           สำหรับประวัติ นายแพทย์รุ่งเรือง ฯ เข้าศึกษาคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระหว่างเป็นนักศึกษาแพทย์ได้รับรางวัลนักศึกษาแพทย์ดีเด่น และรางวัลนักศึกษาตัวอย่างด้านบำเพ็ญประโยชน์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อสำเร็จการศึกษาปี พ.ศ. 2537 ได้เข้ารับราชการตำรวจที่งานพิสูจน์หลักฐานฯ สถาบันนิติเวชวิทยา กรมตํารวจ ในตำแหน่ง นพ.โท (ยศ ร้อยตำรวจเอก นพ.โท สารวัตร พิสูจน์หลักฐานฯ)
           ในปี พ.ศ. 2537 - 2540 ได้ปฏิบัติราชการตำรวจด้วยความอุทิศตน ทุ่มเท คุณหมอได้ทำคดีสำคัญระดับชาติและนานาชาติ สามารถพิสูจน์หลักฐานทางการแพทย์ ส่งผลให้ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีและได้รับการลงโทษประหารชีวิต เช่น คดีฆ่าข่มขืนเด็กหญิงอายุ 5 ขวบ คดีฆาตกรต่อเนื่องในหลายประเทศ แต่การรวบรวมพยานหลักฐานในประเทศไทยส่งผลให้ศาลอาญาประเทศสิงคโปร์ตัดสินประหารชีวิตฆาตกร ได้รับรางวัลตำรวจดีเด่นในการปฏิบัติราชการ จากสถานทูตแคนาดา จากกรมตํารวจ ประเทศสิงคโปร์ และตำแหน่งพยานแพทย์ผู้เชี่ยวชาญฯ ศาลอาญา ประเทศสิงคโปร์ ปี พ.ศ 2540 เข้ารับราชการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และศึกษาต่อแพทย์ประจำบ้านด้านระบาดวิทยาภาคสนาม (FETP) คุณหมอได้รับรางวัลบุคลากรดีเด่นจากการปฏิบัติราชการ รางวัล “คนดีศรีกรม” จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีผลงานสำคัญการสอบสวนโรค และผ่าพิสูจน์เก็บหลักฐานศพผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนกที่เป็นการติดต่อจากคนสู่คน ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นรายแรกของโลก ข้อมูลการพิสูจน์ส่งผลให้ รัฐบาลในขณะนั้นปรับเปลี่ยนนโยบายและมาตรการในการควบคุมไข้หวัดนกอย่างเข้มข้นเพื่อควบคุมการระบาดใหญ่ จนประสบความสําเร็จ
            ได้รับรางวัลพัฒนาระบบราชการและคุณภาพการให้บริการประชาชนระดับชาติ ในเรื่องการพัฒนาระบบประสานงานการตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก และโรคติดต่ออุบัติใหม่ทางห้องปฏิบัติการ จาก สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งผลงานเป็นส่วนสําคัญส่งผลให้เกิดความสําเร็จในการ ควบคุมการะบาดของโรคไข้หวัดนกขณะนั้น (ปี พ.ศ. 2546 ถึง 2552) และพัฒนาระบบเป็นจนเป็นต้นแบบระบบห้องปฏิบัติการในการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในปัจจุบัน ได้รับยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ
             ปี พ.ศ. 2552-2561 ได้ดํารงตําแหน่งผู้บริหารระดับผู้อํานวยการในหน่วยงาน สําคัญของกรมควบคุมโรค อาทิ เช่น ผู้อํานวยการสํานักโรคติดต่ออุบัติใหม่ ผู้อำนวยการสํานักโรคติดต่อทั่วไป ผู้อำนวยการกองป้องกันควบคุมโรคด้วยวัคซีน ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง
             ปี พ.ศ. 2562-2566 ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่สำคัญ ได้แก่ (1) โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (2) หัวหน้าสำนักวิชาการสาธารณสุข (3) ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กระทรวงสาธารณสุข และ (4) รองหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กระทรวงสาธารณสุข
            - ปัจจุบัน อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
ผลงานโดดเด่นสําคัญ เช่น
            - การจัดทําและขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ซึ่งเป็นการวางรากฐานการรับมือโรคติดต่ออุบัติใหม่ เช่น โรคไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ โรคเมอร์ส โรคโควิด 19 ในปัจจุบัน
            - การจัดทําและขับเคลื่อน แผนยุทธศาสตร์ ทศวรรษกําจัดพยาธิใบไม้ในตับและมะเร็งท่อน้ําดี ส่งผลให้การแก้ไขและลดปัญหาโรคมะเร็งท่อน้ําดีอย่างเป็นรูปธรรม
            - การพัฒนาระบบด่านควบคุมโรคติดต่อ 68 แห่งทั่วประเทศ
            - การพัฒนาและขับเคลื่อนในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2556 ถึง 2559 ส่งผลให้เกิดความสำเร็จในการยอมรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ การบรรจุวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกและโรต้าไวรัสในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
            - เป็นผู้รับผิดชอบ “โครงการรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ 22 ล้านเข็มเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ส่งผลให้สามารถควบคุมโรคคอตีบประสพความสำเร็จ ไม่เป็นปัญหาในปัจจุบัน
            - ได้ปฏิบัติราชการเพื่อสนับสนุนโครงการพระราชดําริฯ การควบคุมโรคในถิ่นทุรกันดาร
ปี พ.ศ. 2562 ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดํารงตําแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ระดับ 10) ที่ปรึกษาระดับกระทรวงสาธารณสุข เป็นและปฎิบัติหน้าที่ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบหน่วยงานสำคัญ เช่น สํานักวิชาการสาธารณสุข ศูนย์บริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต IHPP, HITAP
           - ดำรงตำแหน่งโฆษกกระทรวงสาธารณสุขซึ่งได้รับการยอมรับจากสื่อมวลชนและประชาชน โดยเฉพาะการออกมาชี้แจงตอบโต้สถานการณ์ จนได้รับการยอมรับว่าเป็นโฆษกกระทรวงสาธารณสุขที่ดีสุดท่านหนึ่ง
           - รับผิดชอบศูนย์บริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีการพัฒนาระบบในการดูแลประชาชน และทำหน้าที่เจรจา ควบคุมสถานการณ์การประท้วง การรับเรื่องร้องทุกข์ ซึ่งได้รับการยอมรับทั้งจากผู้มาร้องทุกข์และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข
           - ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ MIU : MOPH Intelligence Unit กระทรวงสาธารณสุข ในจัดทําข้อเสนอเชิงนโยบายยุทธศาสตร์และมาตรการ ต่อผู้บริหารระดับสูง มีผลงานสําคัญในการรับมือสถานการณ์ และควบคุมโรคโควิด 19 เช่น
          - การปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ พัฒนาต้นแบบหน่วยปฏิบัติการเชิงรุก CCRT (Covid 19 Comprehensive Response Team) ทั้งการดูแลผู้ป่วยและส่งต่อ การให้วัคซีนโควิดเชิงรุกในพื้นที่เป็นครั้งแรกของประเทศ
          - การสร้างการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชนในระดับพื้นที่ต้นแบบ ส่งผลให้เกิด ความสําเร็จในการควบคุมสถานการณ์ เริ่มจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขยายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
          ปี พ.ศ. 2567 ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้บริหาร ที่มีภาวะผู้นำและทักษะการบริหารที่สูงมาก ใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือน ได้พัฒนาปฏิรูปองค์กร กรมวิทยาศาสตร์บริการ จนมีผลงานโดดเด่นของกระทรวง อว. เช่น การขยายขยายการบริการสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเป็น “ศูนย์วิทยาศาสตร์บริการร่วม” สร้างความร่วมมือกับสำนักคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และสามารถ เปิด ศูนย์ให้คำปรึกษาและบริการร่วมอย. & อว. ประชาชนสามารถรับบริการได้ที่กระทรวง อว. เช่นเดียวกับการไปรับบริการที่ อย. จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการ DSS เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ และลงปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ในการนำวิทยาศาสตร์เพื่อมาค้นหาคำตอบจากปัญหาต่างๆ และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายหรือมาตรการเพื่อป้องกันแก้ไขต่อไป

ดูรูปภาพเพิ่มเติมคลิก>>

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

  1. (ข่าวที่ 169/2567) กรมวิทย์ฯ บริการ ร่วมบันทึกเทปถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ วันที่ 28 กรกฎาคม 2567
  2. (ข่าวที่ 168/2567) "ศุภมาส" เปิดตัว “ศูนย์ปฏิบัติการผู้พันวิทย์ อว.” ผนึกกำลังหน่วยงานในสังกัดหนุนองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนพร้อมขยายเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ
  3. (ข่าวที่ 167/2567) กรมวิทย์ฯ บริการ ลงพื้นที่ระนอง หนุน ผปก. ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพตามมาตรฐานตอบโจทย์ผู้บริโภค
  4. (ข่าวที่ 166/2567) กรมวิทย์ฯ บริการ พัฒนาศักยภาพผู้ตรวจประเมินหน่วยรับรองระบบงานเพิ่มประสิทธิภาพการประเมินทางวิชาการด้านการสอบเทียบเครื่องมือวัดเป็นแนวทางเดียวกัน
  5. (ข่าวที่ 165/2567) กรมวิทย์ฯ บริการ จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร ความรู้ทั่วไปทางด้านแก้ว เทคโนโลยีในกระบวนการผลิต และการทดสอบผลิตภัณฑ์แก้วตามมาตรฐาน
  6. (ข่าวที่ 164/2567) กรมวิทย์ฯ บริการ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การติดตามและประเมินผลกระทบโครงการวิจัย 2 หลักสูตร เตรียมความพร้อมและพัฒนาบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพ
  7. (ข่าวที่ 163/2567) กรมวิทย์ฯ บริการ ต้อนรับ รมว.อว. พร้อมนำเสนอผลงาน Color ID Labeling และการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากวัตถุดิบอัตลักษณ์พื้นถิ่นในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ก่อนการประชุม ครม. สัญจรโคราช
  8. (ข่าวที่ 162/2567) กรมวิทย์ฯ บริการ จัดกิจกรรมสนทนาประสา วศ. สนับสนุนบุคลากร หัวข้อ “การใช้งานและบำรุงรักษาเครื่องมือวิทยาศาสตร์”
  9. (ข่าวที่ 161/2567) กรมวิทย์ฯ บริการ เข้าร่วมงาน "The 8th STS forum ASEAN – Japan Workshop: For the next 50 years of ASEAN-JAPAN Science and Technology Cooperation" ผนึกความร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีและทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ
  10. (ข่าวที่ 160/2567) วศ.อว. ลงพื้นที่สร้างเครือข่ายการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลาส้มให้เกิดผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์พื้นถิ่น และยกระดับห่วงโซ่คุณค่าของกระบวนการผลิตปลาส้ม ด้วย วทน. ณ พื้นที่บริเวณรอบเขื่อนอุบลรัตน์